วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550

ลูกประคบคืออะไร


ลูกประคบ..

ยาประคบสมุนไพร การประคบด้วยสมุนไพร เป็นวิธีการบำบัดรักษาของการแพทย์แผนไทยอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งใช้ควบคู่กับการนวดไทย คือ มักทำการประคบหลังจากนวดเสร็จแล้ว ผลของการรักษาด้วยการประคบสมุนไพร เกิดจากผลของความร้อนที่ได้จากการประคบและผลจากการที่ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านชั้นผิวหน้งเข้าสู่ ร่างกาย
ผลของความร้อน จากการประคบที่มีต่อการรักษา คือ ช่วยทำให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก , ลดการติดขัดของข้อต่อ , ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ , ลดปวด , ช่วยลดการบวมที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ หลังการบาดเจ็บ 24 – 28 ชั่วโมง และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
ผลของสมุนไพร สมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาลูกประคบ มีแตกต่างกันไป แต่ตัวยาหลักสำคัญ ๆ จะคล้ายกันในที่นี้จะยกมาเป็นตัวอย่าง 1 ตำรับ คือ ตำรับยาประคบแก้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก (ตำรับของโครงการฟื้นฟูการนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ)
ประโยชน์โดยทั่วไปของการประคบ
1.บรรเทาอาการปวดเมื่อย
2.ช่วยลดอาการ บวม อักเสบ ของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ หลัง24-48ชั่วโมง
3.ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
4.ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืด ยืดตัวออก
5.ลดอาการติดขัดของข้อต่อ
6.ลดอาการปวด
7.ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ส่วนประกอบลูกประคบ หัวไพลสด ½ กิโลกรัม หัวขมิ้นอ้อยและขมิ้นชัน รวมกันให้ได้ ½ ขีด ต้นตะไคร้ 1 ขีด ผิวมะกรูด 1 ผล ใบมะขามและใบส้มป่อย รวมกันให้ได้ ½ ขีด การบูร 1 ช้อนชา พิมเสน 1 ช้อนชา เถาเอ็นอ่อน ½ ขีด ตัวยาสมุนไพรส่วนใหญ่มีสรรพคุณในการแก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ทำให้เส้นหย่อนเมื่อผสานกับความร้อนจากลูกประคบ ก็เท่ากับเสริมฤทธิ์ในการรักษาซึ่งกันและกัน
อนึ่ง สมุนไพรที่ใช้ตามตำรับนี้ ควรเป็นยาสด เพราะเป็นยาที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ ถ้าเป็นยาแห้งน้ำมันหอมระเหย จะระเหยออกไปมากแล้ว ทำให้มีผลในการรักษาได้น้อย นอกจากนี้ อาจใช้สมุนไพรอื่นร่วมอีก เช่น ว่านนางคำ ใบพลับพลึง หัวหอม ขิงสด ว่านน้ำ ดีปลี เปราะหอม ผักบุ้ง เปลือกชลูด ถ้าหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใช้เท่าที่มีแต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ หัวไพล ผิวมะกรูด ใบมะขามแก่ และใบส้มป่อย
1.ไพล แก้ปวดเมื่อย
2.ผิวมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน
3.ตะใคร้บ้าน แต่งกลิ่น
4. ใบมะขามแก้อาการคันตามร่างกาย
5.ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
6.เกลือช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น
7.การบูรแต่งกลิ่นบำรุงหัวใจ
8.ใบส้มป่อยช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน

วิธีเตรียมลูกประคบ
1. หั่นหัวไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ต้นตะไคร้ และเถาเอ็นอ่อน แล้วตำพอหยาบ
2. ปอกผิวมะกรูดออก หั่นแล้วตำพอหยาบ
3. นำส่วนผสมในข้อ 1 และ 2 มาตำรวมกับใบมะขามและใบส้มป่อย
4. ใส่การบูร และพิมเสนลงไปผสมให้เข้ากัน ตำต่อให้แหลก แต่อย่าถึงกับละเอียดเพราะลูกประคบจะแฉะ
5. แบ่งตัวยาที่ตำได้เป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ใช้ผ้าขาวห่อ รัดด้วยเชือกให้แน่น จะได้ลูกประคบ 2 ลูก
อุปกรณ์ที่ใช้ประคบ
1. หม้อดินใส่น้ำครึ่งหนึ่ง ตั้งบนเตาไฟจนมีไอน้ำร้อน
2. จานรองลูกประคบ
3. ลูกประคบ 2 ลูก ลูกหนึ่งวางไว้บนปากหม้อดินที่มีไอน้ำร้อน อีกลูกวางไว้ที่จานรองประคบ
ขั้นตอนในการประคบ
หลังจากที่ทำการนวดร่างกายของผู้ป่วยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. จัดท่าของผู้ป่ายให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นอกคว่ำ หรือนอนตะแคง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบ
2. เมื่อลูกประคบที่อังไอน้ำร้อนดีแล้ว ผู้ประคบใช้มือจับลูกประคบให้เต็มอุ้งมือ ยกขึ้นจาก ปากหม้อ แล้วเอาลูกประคบอีกลูกวางบนปากหม้อแทน ลองใช้ลูกประคบแตะบริเวณท้องแขนของตนเอง ถ้าลูกประคบยังร้อนมากให้ใช้ฝ่ามืออีกข้างแตะลูกประคบ แล้วใช้ฝ่ามือไปนาบบริเวณที่ต้องการประคบ เป็นการ ถ่ายเทความร้อนซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเกินไป ทำหลาย ๆ ครั้ง จนลูกประคบกลายความร้อนลง จึงเอาลูกประคบ ๆ โดยตรง
3. การประคบด้วยลูกประคบโดยตรง ในตอนแรกต้องทำด้วยความรวดเร็ว ไม่วางลูกประคบไว้บนผิวหนังผู้ป่วยนาน ๆ เพียงแต่แตะลูกประคบแล้วยกขึ้น เลื่อนไปประคบตำแหน่งถัดไปตามแนวกล้ามเนื้อที่กำหนด
4. เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงอีก ผู้ประคบสามารถวางลูกประคบให้นานขึ้นได้ พร้อมกับกด คลึงด้วยลูกประคบ จนลูกประคบคลายความร้อนไปมากแล้ว จึงเปลี่ยนไปใช้ลูกประคบอีกลูก ทำการประคบซ้ำจากขั้นตอนที่ 2 – 4
5. ในขณะประคบ ควรทำการนวดสลับกันกับการประคบ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ปวดเมื่อยมาก
ระยะเวลาที่ใช้ในการประคบ
โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที ต่อการประคบ 1 ครั้ง ถ้ามีอาการเคล็ดขัดยอก อาจประคบได้วันละ 2 ครั้ง
ข้อควรระวังในการประคบ
1. อย่าให้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังที่อ่อน บริเวณที่มีกระดูกยื่น หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ควรใช้ผ้าขนหนูรองหรือใช้ลูกประคบอุ่น ๆ
2. ต้องระมัดระวังในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพาต เด็กและผู้สูงอายุ เพราะมักมีความรู้สึกตอบสนองช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่าย ควรใช้ลูกประคบที่ไม่ร้อนจัด
3. ห้ามใช้การประคบสมุนไพรในกรณีที่มีอาการอักเสบ ปวดบวมแดงร้อน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะจะทำให้บวมมากขึ้นและเลือดออกมากขึ้นได้
4. หลังการประคบสมุนไพร ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างยาออกจากผิวหนังและ ร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน
การเก็บรักษาลูกประคบ
ลูกประคบที่ทำครั้งหนึ่ง ๆ อาจใช้ได้ 3 – 5 วัน เวลาเก็บควรผึ่งตัวยาไว้อย่าให้อับ ถ้าเก็บในที่เย็น เช่น ตู้เย็น จะทำให้เก็บได้นานขึ้น แต่ถ้าตัวยาบูดเสีย ก็ไม่ควรนำมาใช้อีก ถ้าพบว่าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้อาจพรมด้วยน้ำหรือเหล้าโรง ถ้าลูกประคบที่ใช้ไม่มีสีเหลืองของไพลออกมาอีก แสดงว่ายาจืดแล้ว จะใช้ไม่ได้ผลอีก

ไม่มีความคิดเห็น: